1

 

 

 

 

 

ประวัติเมืองวานรนิวาส

วานรนิวาส เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสกลนคร

ตราประจำอำเภอ

ตราหนุมาน

 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย ได้ทรวงผนวชหลายพรรษาก่อนเสวยราชสมบัติ จึงมีเวลาศึกษาวิทยาการต่าง ๆ ทั้งใหม่เก่าจนเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในเอเชียที่สามารถตรัส เขียนภาษาอังกฤษได้รวมทั้งสอบเปรียญทางภาษาบาลี-สันสกฤต อีกด้วย เมื่อขึ้นครองราชต่อจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นพระเชษฐาธิราชแล้ว จึงทรงรับกับสถานการณ์ใหม่ ๆ ต่อชาวต่างประเทศได้ ดี สำหรับการปกครองภายในประเทศนั้นก็ทรงปรับปรุงตัวบทกฎหมายมี พระบรมราชโองการประกษสต่าง ๆ หลายฉบับซึ่งเป็นสำนวนภาษาอันรัดกุม สละสลวยยิ่ง ส่วนชื่อเมืองที่ไม่เพราะขัดหูก็ทรงพระกรุณาพระราชทานชื่อให้ ใหม่ โดยอิงชื่อเดิมอย่างถูกต้องซึ่งมีอยู่ 3 เมืองเท่านั้น คือ เมืองบางสะพานเป็นเมืองประจวบคีรีขันคู่กับเมืองเกาะกง ฝั่งตรงข้ามอ่าวไทยเป็นเมืองจันต์คีรีเขต (ต่อมาฝรั่งเศสยึดครองและยกให้เขมร) อีกเมืองหนึ่งบริเวณภูพานซึ่งพระนั่งเกล้า ฯ ได้เปลี่ยนชื่อ เมื่อ พ.ศ. 2381 จากเมืองสกลทวาปีเป็นสกลนคร ของชาวย้อเมืองพี่แล้ว พระองค์ก็ได้ยก “ บ้านกุดลิง ” ของชาวโย้ยเป็นเมืองน้องให้คล้องจองกันเป็นเมือง “ วานรนิวาส ” เมื่อวันจันทร์แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ปีระกา ตรีศกจศ. 1223 ตรงกับวันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2404

ชาวย้อชาวโย้ยก็คือชาวไทย (หมายถึงชนชาติที่พูดภาษาไทย-ลาว) แต่แตกต่างด้วยสำเนียงซึ่งชาวโย้ยจะลากเสียงยาว สระอะกลายเป็นสระอา สระอาก็ลากเสียงเหมือนกับมี 3 -4 ตัว และคำอุทานเสริมบทถ้าเป็นชาวย้อจะออก “ ละเบ้อ ” ชาวโย้ยก็จะว่า “ หวาา นออน ฮ่อ ” ซึ่งต่างก็อพยพมาจากฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขงเหมือนกันในระยะเวลาใกล้เคียงกันมาตั้งหลักปักฐานบริเวณภูพาน แต่ชาวโย้ยเปลี่ยนใจหลายครั้งกว่าจะตั้งเมืองขึ้น ประวัติศาสตร์หัวเมืองต่าง ๆ ภาคอีสานก็เริ่มต้นในสมัยพระนั่งเกล้าฯ (รัชการที่ 3) ทั้งสิ้น ประมาณ พ.ศ. 2370 เมื่อปราบกบฏพระชัยเชษฐาธิราชที่ 3 (เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์) แม่ทัพใหญ่คือพระยาราชสุภาวดี ( สิงห์ต้นตระกูลสิงหเสนี ซึ่งต่อมาเป็นเจ้าพระยาบดินทร์เดชา สมุหนายก) ยกทัพมาปราบเวียงจันทร์ เจ้าเมืองสกลทวาปี และนครพนมขัดอาญาศึกไม่เตรียมผู้คนเบียงอาหาร ดินปืนจึงถูกตัดคอ แม่ทัพใหญ่จึงให้พระสุนทรราชวงศา (ท้าวฝ่ายหรือฝ้ายต้นตระกูลยศสุนทร) เจ้าเมืองยโสธรเป็นเจ้าเมืองนครพนมอีกเมืองหนึ่ง ซึ่งท่านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการตั้งเมืองบริเวณภูพานนี้ทั้งหมด เมื่อปราบเวียงจันทร์ก็กระทบกับเวียดนามที่หนุนหลังอยู่จนเกิดศึกใหญ่ อานาม-สยามยุทธ 14 ปี ราษฎรที่อยู่ฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขงก็ได้รับความเดือดร้อนเพราะเป็นสมรภูมิรบ ฝ่ายไทยจึงถือนโยบายสำคัญในการเกลี้ยกล่อมชักชวนให้ข้ามโขงฝั่งตะวันตก โดยให้เจ้าเมืองเดิมมาตั้งเมืองใหม่และสามารถสืบตระกูลเจ้าเมืองกันได้เหมือนเดิม

1. ชาวโย้ยจากเมือง “ ฮ่อมท้าว ” แขวงจำปาศักดิ์โดยท้าวศรีสุราช เป็นหัวหน้าได้อพยพมาประมาณ 2 พันคนเศษ ตั้งหลักอยู่บ้านม่วงริมยาม (แม่น้ำยาม) ประมาณ พ.ศ. 2373 คือท้องที่อำเภออำนวยปัจจุบัน แต่พื้นกับเมืองนครพนม เพราะเมืองสกลทวาปีร้างถูกอาญาศึกอพยพผู้คนไปปราจีนบุรี

2. พระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองนครพนมเสร็จราชการสงครามแล้ว(ประมาณ พ.ศ. 2378) จึงกลับเมืองยโสธรตามเดิม ท้าวจันโสม ซึ่งเป็นท้าวเพี้ย (ข้าราชการอิสานโบราณ) บ้านม่วงริมยาม ซึ่งคงจงรักภักดีต่อพระสุนทรราชวงศามากได้ชักชวนชาวโย้ยประมาณพันคนเศษติดตามไปเมืองยโสธรด้วย และตั้งหลักแหล่งอยู่ “ บ้านกุดลิง ” เมืองยโสธร(ยังมิได้ค้นว่าอยู่ที่ใด) กุดคือลำน้ำที่ไหลมาหยุด ส่วนลิงนั้นมิใช่มีลิงมากแต่เพราะมีต้นหูลิงอยู่มาก ต้นหูลิงนั้นบางคนเรียกว่า “ ต้นหูหมาน ” กินได้เป็นยา ตำนานบางเรื่องว่า คือ “ สังกรณี-ตรีชวา ” เมื่อหนุมานเขาสุวรรณบรรพตเหาะผ่านมา บางส่วนกระเด็นมาตกเป็น “ ภูลังกา ” อำเภอบึงการ จังหวัดหนองคาย ต้นสมุนไพรสังกรณี-ตรีชวาจึงงอกแพร่พันธ์เรียกว่าต้นหูหมาน (หนุมาน) หรือหูลิงเพราะในเหมือนหูลิงมาก

3. ท้าวจันโสมเห็นว่า “ บ้านหูลิง ” คับแคบลำบากในการทำกิน ซึ่งเหตุผลอีกหลายอย่างประกอบกัน เช่น พระสุนทรราชวงศา (ท้าวฝ่าย) เจ้านาย อาจจะอสัญกรรมหมดความผูกพันหรืออาจจะคิดถึงญาติพี่น้องชาวโย้ยเดิม ที่บ้านม่วงริมยามก็ได้ จึงอพยพกลับมาใกล้บริเวณเดิมอีกที่บ้านแร่ (ต. แร่ อ. พังโคน จ. สกลนคร) แต่คงนำชื่อ “ บ้านกุดลิง ” ตามมา จะเป็นปี พ.ศ. ใดไม่ปรากฏและคาดว่าท้าวจันโสมหัวหน้าชาวโย้ยอาจจะถึงแก่กรรมที่นี่ หัวหน้าคนต่อมาคือ “ จานคำ ” ซึ่งอาจเป็นบุตร (จานคืออาจารย์ผู้บวชหลายพรรษา)

4. ชาวโย้ยบ้านกุดลิง ตำบลแร่ ยังไม่พอใจอีกอาจเป็นเพราะทำไร่นาไม่ได้ผล เพราะดินมีแร่หรือแฮ่มากจึงมาอยู่ที่ บ้านชุมแสงหัวนา (ตำบลวานรนิวาส) ซึ่งคงเป็นที่สุดท้ายปัจจุบัน พงศาวดารอิสานกล่าวว่า พ.ศ. 2400 ชาวโย้ยแตกหมู่แตกกองเป็น 2 พวก ขอขึ้นกับเมืองยโสธร และพวกขอขึ้นกับเมืองสกลนคร ซึ่งทางกรุงเทพ ฯ คงใช้เวลาสืบสวนสอบสวนเดินทางไปมาถึง 4 ปี เพื่อแก้ปัญหาระหว่างเมืองยโสธรเจ้านายเดิมกับเมืองสกลนคร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ จึงทรงตั้งเมือง (จังหวัด) ให้ใหม่ และพระราชทานสาส์นตราตั้งทั้งเปลี่ยนชื่อเมือง “ วานรนิวาส ” ซึ่งกว้างขวางรวมเขตปัจจุบันของอำเภอวานรนิวาส อากาศอำนวย บ้านม่วง คำตากล้า และบางส่วนของเมืองจำปาชนบท (พังโคน) และอำเภอบ้านหัน (สว่างแดนดิน) ด้วย

เมืองวานรนิวาสมีฐานะเป็นเมืองจัตวาเจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์เป็น “ พระ ” มีราชทินนามว่า “ พระประชาราษฎร์รักษา ” (จานคำต้นตระกูลศรีถาพร) เช่นเดียวกับเมืองจัตวาอื่น ๆ เช่น พระปทุมเทวาภิบาลเจ้าเมืองหนองคาย พระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองยโสธร ซึ่งเป็นจังหวัดแต่ที่กลายเป็น “ อำเภอ ” เมื่อ พ.ศ. 2445 เพระาเหตุผลหลายประการ แต่ที่สำคัญที่สุดคือชื่อนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระจอมเกล้า ฯ พระราชทานให้เฉพาะเป็นเมืองพี เมืองน้อง คล้องจองกันว่า “ สกลนคร – วานรนิวาส ” ของชาวย้อชาวโย้ย ซึ่งวันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม 2534 นี้ ชาววานรนิวาสทุกหลังคาเรือนจะพร้อมใจกันจัดงาน “ น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ เมืองวานรนิวาส ” ทุกปี โดยทอดผ้าป่าต้นหูลิง เพื่อนำเงินมาทำสาธารณประโยชน์ และจุดไฟแห่งปัญญาทุกหลังคาเรือน

การปกครองพิเศษแบบ “ บริเวณ ”

เมื่อเขียนเมืองพี่เมืองน้อง สกลนคร – วานรนิวาส แล้วหลายท่านก็อาจจะไม่เชื่อ ว่าเมืองคือจังหวัด ซึ่งผมขอยืนยันว่าใช่ แต่ที่กลายเป็นอำเภอนั้นเพราะความเข้าใจผิดคำว่า “ บริเวณ ” เป็นสำคัญ เนื่องจากเป็นรูปแบบการปกครองพิเศษ ในสมัยปรับปรุงการปกครองครั้งใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นั้น พลเอกสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเปรียบเสมือนพระหัตถ์ขวาของพระองค์ ได้ทรวงวางรากฐานปรับปรุงการปกครองหัวเมืองทั้งหมดให้เข้ารูปสมัยใหม่ เปลี่ยน “ เมืองเป็นจังหวัด ” หลาย ๆ จังหวัดรวมกันเป็นมณฑล ซึ่งมีสมุหเทศาภิบาล มณฑลและข้าหลวงประจำจังหวัด (ผู้ว่าราชการจังหวัด) ปกครองดูแลบังคับบัญชา สมเด็จกรมพระยาดำรงเดชานุภาพทรงเชี่ยวชาญ ทั้งการปกครองประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณีซึ่งสหประชาชาติยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก พระองค์ได้ทรงศึกษาแล้วเห็นว่าบางพื้นที่มีปัญหาพิเศษ ซึ่งยังมิอาจจัดตั้งมณฑลได้จึงได้ทรงตั้งเป็น “ บริเวณ ” แทน มีฐานะใหญ่กว่าจังหวัดแต่ยังคงฟังการบังคับบัญชาจากสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยู่ ซึ่งเท่าที่ทราบมี 2 พื้นที่คือ “ บริเวณเมืองแขกทั้ง 7 ” หรือ “ บริเวณปัตตานี และ บริเวณเมืองภูพานทั้ง 6 ” หรือ “ บริเวณสกลนคร ” ผู้ปกครองใช้คำว่า “ ข้าหลวงประจำบริเวณ ” มิใช่ข้าหลวงประจำจังหวัดเหมือนจังหวัดอื่น ๆ บริเวณปัตตานีนั้นเมืองทั้ง 7 เป็นอิสลามบ้าง พุทธบ้าง ถ้าใช้กฎหมายระเบียบแบบแผนเดียวกันอาจจะยุ่งยากและโชคดีที่ได้เป็นศิษย์เอกของพระองค์ไปจัดการ คือ พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) ซึ่งต่อมาเป็นเจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาล (กรุงเทพ) เมื่อยุบรวมกับกระทรวงมหาดไทย ท่านก็เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยคน ที่ 2 ต่อจากพระองค์ สมัยเมื่อท่านเป็น “ ข้าหลวงประจำบริเวณปัตตานี ” ก็ได้ปรับปรุงวางรากฐานดีแล้วจึงขอยกบริเวณเป็น “ มณฑลปัตตานี ” เมืองทั้ง 7 ก็กลายเป็นจังหวัด เช่น ปัตตานี นราธิวาส ยะลา สตูล บางเมืองก็ยุบเป็นอำเภอ บางเมืองก็ถูกอังกฤษเอาไปเป็นมาเลเซียปัจจุบัน ส่วนบริเวณเมืองภูพานทั้ง 6 โชคไม่มีหลายคนยังคิดว่า บริเวณคือจังหวัด เมืองคืออำเภอ จึงมีจังหวัดสกลนคร แทนที่จะยกเป็น “ มณฑลสกลนคร ” ผมเข้าใจว่าทั้งนี้เพราะสมเด็จฯกรมพระดำรงเดชานุภาพ ทราบปัญหาความแตกต่างของ “ เผ่าพันธุ์ ” บริเวณนี้ดีว่าแต่ละเมืองแต่ละเผ่าพันธุ์ มีขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษาวัฒนธรรมที่แปลกแยกกันอีกทั้งเพิ่งอพยพมาตั้งเมืองกันไม่นาน หากรีบร้อนตั้งเป็น มณฑลเหมือนที่อื่น อาจจะมีปัญหาบุ่งยากจึงทรงตั้งเป็น บริเวณ แทนจนกว่าจะเข้ารูปแต่คนไม่เข้าใจรัฐประศาสน์นโยบายของพระองค์เพียงพอ เท่าที่ทราบบริเวณเมืองภูพานทั้ง 6 นั้นมี

1. เมืองสกลนคร ชาวย้อ 2. เมืองวานรนิวาส ชาวโย้ย

3. เมืองกุสุมาลย์ ชาวโส้ 4. เมืองพรรณานิคม ชาวผู้ไทวัง (หรือเว)

5. เมืองวาริชภูมิ ชาวผู้ไทกะป๋อง 6. เมืองจำปาชนบท (พังโคน) ชาวลาว อิสาน

และยังมีกะเลิง ซึ่งแยกเป็นอำเภอกุดบากปัจจุบันนี้ ซึ่งแต่ละเผ่าพันธุ์ แต่ละเมืองต่างก็ไม่ค่อยจะลงรอยกัน เป็นเมืองจัตวาเท่ากัน เจ้าเมืองเป็น พระ เหมือนกัน (เพิ่งยกท้าวโง่นคำ พรหมสาขา ณ สกลนคร เป็นพระยาประจันตประเทศธานี ที่ปรึกษาข้าหลวง ฯ ภายหลัง) คือ พระเทศธานี สกลนคร พระประชาราษฎรรักษา วานรนิวาส พระอรัญอาสา กุสุมาลย์ พระเสนาณรงค์ พรรณานิคม พระสุรินทร์บริรักษ์ วาริชภูมิ พระศรีปทุมวงศ์ พังโคน อาจจะมีหลายท่านถามว่า แล้วอำเภอสว่างแดนดินซึ่งปัจจุบันมีความเจริญมากหายไป ไหนก็ขอเรียนด้วยความเคารพว่าเป็นชาวโย้ยเช่นเดียวกัน เดิมอยู่เมืองภูวดลสว่าง ริมแม่น้ำเซบั้งไฟ แขวงคำม่วน ประมาณ พ.ศ. 2430 เจ้าวานรนิวาส ยกทัพไปปราบฮ่อ ชักชวนอพยพอยู่ตำบลเดื่อศรีคันไชย อำเภอวานรนิวาส แต่ไม่ยอมเรียกตนเองว่าชาววานรหรือชาวเดื่อ ยังเรียกชาวสว่างเสมอจนอพยพไปเอาพื้นที่เขตอุดรธานี ที่ตำบลบ้านหัน และยกเป็นอำเภอบ้านหัน พ.ศ. 2445 แต่ยังไม่ยอมเป็นชาวบ้านหันยังเป็นชาวสว่างจน พ.ศ. 2482 จึงเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอสว่างแดนดิน ตัดเขตมาขึ้นกับจังหวัดสกลนครจนปัจจุบัน อาจจะเหมือนอำเภอหาดใหญ่จังหวัดสงขลา ยังไงก็ไม่สามารถตั้งเป็นจังหวัดได้ ทั้ง ๆ ที่เจริญมากกว่า เพราะเมืองสงขลาเก่ากว่าและตั้งอำเภอให้ เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 รากฐานเดิมที่พระองค์วางไว้ก็ถูกรวบรัดเข้าศูนย์กลางกรุงเทพ ฯ พื้นที่ซึ่งมีปัญหาทั้ง 2 แห่ง จึงระเบิดขึ้นจากความเข้าใจใจปัญหาของบริเวณมีการแบ่งแยกดินแดน 4 จังหวัดภาคใต้จนกระทรวงมหาดไทยต้องจัดตั้ง ศูนย์บริหารราชการภาคใต้ คป.บต. ส่งรองปลัดไปควบคุมเฉพาะ บริเวณภูพานก็เช่นเดียวกัน เมื่อ พคท. ประกาศสงครามปฏิวัติวันเสียงปืนแตก 7 สิงหาคม 2508 ที่บ้านบัว อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม แต่ใกล้สกลนครมากกว่าและเดิมเป็นตำบลหนองสูง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ซึ่งประชาชนเป็นภูไทวัง จนร้อนระอุทั่วภาคอิสาน กองทัพภาค 2 ก็มาตั้งเป็นส่วนหน้า จังหวัดสกลนคร เพื่อควบคุมสถานการณ์เฉพาะถือเป็นหน่วยงานใหญ่กว่าจังหวัด เช่นเดียวกันกับภาคใต้ แต่ที่บรรเทาลงมิใช่ความเก่งกล้าสามารถของมหาดไทย (บริเวณปัตตานี) หรือกลาโหม (บริเวณสกลนคร) แต่อย่างใด หากเพราะพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปัจจุบัน ซึ่งทรงประทับเป็นหลักชัยคนไทยทุกเผ่าพันธุ์ ทุกศาสนา ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส และตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร นั่นเอง

 

<<กลับหน้าหลัก>>